วันพฤหัสบดีที่ 14 มิถุนายน พ.ศ. 2555

สารสนเทศ คืออะไร

สารสนเทศ
สารสนเทศ
สารสนเทศ (information) [1] เป็นผลลัพธ์ของการประมวลผล การจัดดำเนินการ และการเข้าประเภทข้อมูลโดยการรวมความรู้เข้าไปต่อผู้รับสารสนเทศนั้น สารสนเทศมีความหมายหรือแนวคิดที่กว้าง และหลากหลาย ตั้งแต่การใช้คำว่าสารสนเทศในชีวิตประจำวัน จนถึงความหมายเชิงเทคนิค ตามปกติในภาษาพูด แนวคิดของสารสนเทศใกล้เคียงกับความหมายของการสื่อสาร เงื่อนไข การควบคุม ข้อมูล รูปแบบ คำสั่งปฏิบัติการ ความรู้ ความหมาย สื่อความคิด การรับรู้ และการแทนความหมาย
ปัจจุบันผู้คนพูดเกี่ยวกับยุคสารสนเทศว่าเป็นยุคที่นำไปสู่ยุคแห่งองค์ความรู้หรือปัญญา นำไปสู่สังคมอุดมปัญญา หรือสังคมแห่งสารสนเทศ และ เทคโนโลยีสารสนเทศ แม้ว่าเมื่อพูดถึงสารสนเทศ เป็นคำที่เกี่ยวข้องในศาสตร์สองสาขา คือ วิทยาการสารสนเทศ และ วิทยาการคอมพิวเตอร์ ซึ่งคำว่า "สารสนเทศ" ก็ถูกใช้บ่อยในความหมายที่หลากหลายและกว้างขวางออกไป และมีการนำไปใช้ในส่วนของ เทคโนโลยีสารสนเทศ และ การประมวลผลสารสนเทศ
สิ่งที่ได้จากการนำข้อมูลที่เก็บรวบรวมไว้มาประมวลผล เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ตามจุดประสงค์ สารสนเทศ จึงหมายถึง ข้อมูลที่ผ่านการเลือกสรรให้เหมาะสมกับการใช้งานให้ทันเวลา และอยู่ในรูปที่ใช้ได้ สารสนเทศที่ดีต้องมาจากข้อมูลที่ดี การจัดเก็บข้อมูลและสารสนเทศจะต้องมีการควบคุมดูแลเป็นอย่างดี เช่น อาจจะมีการกำหนดให้ผู้ใดบ้างเป็นผู้มีสิทธิ์ใช้ข้อมูลได้ ข้อมูลที่เป็นความลับจะต้องมีระบบขั้นตอนการควบคุม กำหนดสิทธิ์ในการแก้ไขหรือการกระทำกับข้อมูลว่าจะกระทำได้โดยใครบ้าง นอกจากนี้ข้อมูลที่เก็บไว้แล้วต้องไม่เกิดการสูญหายหรือถูกทำลายโดยไม่ได้ตั้งใจ การจัดเก็บข้อมูลที่ดี จะต้องมีการกำหนดรูปแบบของข้อมูลให้มีลักษณะง่ายต่อการจัดเก็บ และมีรูปแบบเดียวกัน ข้อมูลแต่ละชุดควรมีความหมายและมีความเป็นอิสระในตัวเอง นอกจากนี้ไม่ควรมีการเก็บข้อมูลซ้ำซ้อนเพราะจะเป็นการสิ้นเปลืองเนื้อที่เก็บข้อมูล


สารสนเทศในความหมายของข้อความ

สารสนเทศสามารถหมายถึงคุณภาพของข้อความจากผู้ส่งไปหาผู้รับ สารสนเทศจะประกอบไปด้วย ขนาดและเหตุการณ์ของสารสนเทศนั้น สารสนเทศสามารถแทนข้อมูลที่มีความถูกต้องและความแม่นยำหรือไม่มีก็ได้ ซึ่งสามารถเป็นได้ทั้งข้อเท็จจริงหรือข้อโกหกหรือเป็นเพียงเหตุการณ์หนึ่งที่เกิดขึ้น สารสนเทศจะเกิดขึ้นเมื่อมีผู้ส่งข้อความและผู้รับข้อความอย่างน้อยฝ่ายละหนึ่งคนซึ่งทำให้เกิดการสื่อสารของข้อความและเข้าใจในข้อความเกิดขึ้น ซึ่งมีลักษณะใกล้เคียงกับ ความหมาย ความรู้ คำสั่ง การสื่อสาร การแสดงออก และการกระตุ้นภายใน การส่งข้อความที่มีลักษณะเป็นสารสนเทศ ในขณะเดียวกันการบกวนการสื่อสารสารสนเทศก็ถือเป็นสารสนเทศเช่นเดียวกัน
ถึงแม้ว่าคำว่า "สารสนเทศ" และ "ข้อมูล" มีการใช้สลับกันอยู่บ้าง แต่สองคำนี้มีข้อแตกต่างที่เด่นชัดคือ ข้อมูลเป็นกลุ่มของข้อความที่ไม่ได้จัดการรูปแบบ และไม่สามารถนำมาใช้งานได้จนกว่าจะมีการจัดระเบียบและดึงออกมาใช้ในรูปแบบสารสนเทศ การแสดงผลลัพธ์ อุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีในการแสดงผลลัพธ์มีมาก สามารถแสดงเป็นตัวหนังสือ เป็นรูปภาพ ตลอดจนพิมพ์ออกมาที่กระดาษ การแสดงผลลัพธ์มีทั้งที่แสดงเป็นภาพ เป็นเสียง เป็นวีดิทัศน์ เป็นต้น และสามารถเก็บรักษาได้ยาวนาน

สารสนเทศตามหลักนิติศาสตร์

ข้อมูลข่าวสาร
คำว่า "information" ในทางนิติศาสตร์ไทยหาได้ใช้ว่า "สารสนเทศ" ไม่ หากใช้ว่า "ข้อมูลข่าวสาร" ซึ่งตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 ให้นิยามว่า "มาตรา ๔...'ข้อมูลข่าวสาร' หมายความว่า สิ่งที่สื่อความหมายให้รู้เรื่องราวข้อเท็จจริง ข้อมูล หรือสิ่งใด ๆ ไม่ว่าการสื่อความหมายนั้นจะทำได้โดยสภาพของสิ่งนั้นเองหรือโดยผ่าน วิธีการใด ๆ และไม่ว่าจะได้จัดทำไว้ในรูปของเอกสาร แฟ้ม รายงาน หนังสือ แผนผัง แผนที่ ภาพวาด ภาพถ่าย ฟิล์ม การบันทึกภาพหรือเสียง การบันทึกโดยเครื่องคอมพิวเตอร์ หรือวิธีอื่นใดที่ทำให้สิ่งที่บันทึกไว้ปรากฏได้"

เทคโนโลยี คืออะไร

  เทคโนโลยี                                   เทคโนโลยี

เทคโนโลยี หรือ ประยุกตวิทยา [1] หรือ เทคนิควิทยา [2] มีความหมายค่อนข้างกว้าง โดยทั่วไปหมายถึง การนำความรู้ทางธรรมชาติวิทยาและต่อเนื่องมาถึงวิทยาศาสตร์ มาเป็นวิธีการปฏิบัติและประยุกต์ใช้เพื่อช่วยในการทำงานหรือแก้ปัญหาต่าง ๆ อันก่อให้เกิดวัสดุ อุปกรณ์ เครื่องมือ เครื่องจักร แม้กระทั่งองค์ความรู้นามธรรมเช่น ระบบหรือกระบวนการต่าง ๆ เพื่อให้การดำรงชีวิตของมนุษย์ง่ายและสะดวกยิ่งขึ้น [2]
เทคโนโลยีก่อเกิดผลกระทบต่อสังคมและในพื้นที่ที่มีเทคโนโลยีเข้าไปเกี่ยวข้องในหลายรูปแบบ เทคโนโลยีได้ช่วยให้สังคมหลาย ๆ แห่งเกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจมากขึ้นซึ่งรวมทั้งเศรษฐกิจโลกในปัจจุบัน ในหลาย ๆ ขั้นตอนของการผลิตโดยใช้เทคโนโลยีได้ก่อให้ผลผลิตที่ไม่ต้องการ หรือเรียกว่ามลภาวะ เกิดการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติและเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อม เทคโนโลยีหลาย ๆ อย่างที่ถูกนำมาใช้มีผลต่อค่านิยมและวัฒนธรรมของสังคม เมื่อมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เกิดขึ้นก็มักจะถูกตั้งคำถามทางจริยธรรม


ความหมาย

เมื่อกล่าวถึงเทคโนโลยี ผู้คนส่วนใหญ่อาจนึกถึงเครื่องมือเครื่องจักรเชิงกลหรืออิเล็กทรอนิกส์ที่ทันสมัย แต่ความเป็นจริงคือ เทคโนโลยีมีความสัมพันธ์กับการดำรงชีวิตของมนุษย์มาเป็นเวลานานตั้งแต่ยุคประวัติศาสตร์ เทคโนโลยีเป็นสิ่งที่มนุษย์นำความรู้จากธรรมชาติวิทยามาคิดค้นและดัดแปลงธรรมชาติเพื่อแก้ปัญหาพื้นฐานในการดำรงชีวิต ในระยะแรกเทคโนโลยีที่นำมาใช้เป็นระดับพื้นฐานอาทิ การเพาะปลูก การชลประทาน การก่อสร้าง การทำเครื่องมือเครื่องใช้ การทำเครื่องปั้นดินเผา การทอผ้า เป็นต้น ปัจจัยการเพิ่มจำนวนของประชากร ข้อจำกัดด้านทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งการพัฒนาความสัมพันธ์กับต่างประเทศ เป็นปัจจัยสำคัญในการนำและการพัฒนาเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น
เทคโนโลยีกับวิทยาศาสตร์มีความสัมพันธ์กันมาก เทคโนโลยีเกิดจากพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ที่ถ่ายทอดมาจากประเทศตะวันตก ซึ่งศึกษาค้นคว้าทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ยุคปฏิวัติวิทยาศาสตร์ (คริสต์ศตวรรษที่ 16-17) ทำให้การพัฒนาเทคโนโลยีเจริญก้าวหน้าควบคู่ไปกับวิทยาศาสตร์ ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นความรู้ที่เกิดจากการสังเกตปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ คือการพยายามที่อธิบายว่าทำไมจึงเกิดอย่างนั้น เช่น นักฟิสิกส์ อธิบายว่า เมื่อขดลวดตัดสนามแม่เหล็กจะได้กระแสไฟฟ้า และน้ำเกิดจากไฮโดรเจนผสมกับออกซิเจน เป็นต้น ตั้งเป็นกฎเกณฑ์และทฤษฎีเพื่อถ่ายทอดและสอนให้ผู้อื่นได้ศึกษาและพัฒนา

ล้อ เทคโนโลยีที่มีการพัฒนาตั้งแต่ยุคโบราณ
ส่วนในความหมายของเทคโนโลยีเป็นการประยุกต์ นำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ และก่อให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติแก่มวลมนุษย์ กล่าวคือ เทคโนโลยีเป็นการนำเอาความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้ ในการประดิษฐ์สิ่งของต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ส่วนที่เป็นข้อแตกต่างอย่างหนึ่งของเทคโนโลยี กับวิทยาศาสตร์ คือเทคโนโลยีจะขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเศรษฐกิจเป็นสินค้ามีการซื้อขาย ส่วนความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นสมบัติส่วนรวมของชาวโลก มีการเผยแพร่โดยไม่มีการซื้อขายแต่อย่างใดกล่าวโดยสรุปคือ เทคโนโลยีสมัยใหม่เกิดขึ้นโดยมีความรู้ทางวิทยาศาสตร์เป็นฐานรองรับ บทบาทของเทคโนโลยีต่อการพัฒนาประเทศไทยได้เล็งเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเป็นลำดับ เช่น การตราพระราชบัญญัติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าในปี พศ 2514 และจัดตั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการพลังงานแห่งชาติขึ้นในปี พศ 2522 ให้ทำหน้าที่หลักในการเผยแพร่และพัฒนาผลงานทางวิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์สูงสุด ปัจจุบันเทคโนโลยีมีบทบาทต่อการพัฒนาอย่างมาก กล่าวโดยสรุปดังนี้
  1. เทคโนโลยีกับการพัฒนาอุตสาหกรรม การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิต ทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตเพิ่มขึ้น ประหยัดแรงงาน ลดต้นทุนและ รักษาสภาพแวดล้อม เทคโนโลยีที่มีบทบาทในการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศไทย เช่น คอมพิวเตอร์ และอิเล็กทรอนิกส์ การสื่อสาร เทคโนโลยีชีวภาพและพันธุกรรม วิศวกรรม เทคโนโลยีเลเซอร์ การสื่อสาร การแพทย์ เทคโนโลยีพลังงาน เทคโนโลยีวัสดุศาสตร์ เช่น พลาสติก แก้ว วัสดุก่อสร้าง โลหะ
  2. เทคโนโลยีกับการพัฒนาด้านการเกษตร ใช้เทคโนโลยีในการเพิ่มผลผลิต ปรับปรุงพันธุ์ เป็นต้น เทคโนโลยีมีบทบาทในการพัฒนาอย่างมาก แต่ทั้งนี้การนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพัฒนาจะต้องศึกษาปัจจัยแวดล้อมหลายด้าน เช่น ทรัพยากรสิ่งแวดล้อม ความเสมอภาคในโอกาสและการแข่งขันทางเศรษฐกิจและสังคม เพื่อให้เกิดความ ผสมกลมกลืนต่อการพัฒนาประเทศชาติและส่วนอื่นๆอีกมาก
ในทางเศรษฐศาสตร์ มองเทคโนโลยีว่าเป็นความรู้ของมนุษย์ ณ ปัจจุบัน ในการนำเอาทรัพยากรมาผลิตเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องการ (รวมถึงความรู้ว่าเราสามารถผลิตอะไรได้บ้าง) ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี จะเกิดขึ้นเมื่อความรู้ทางเทคนิคของเราเพิ่มขึ้น


วิทยาการและความล้ำหน้าทางเทคโนโลยี

ปัจจุบันเทคโนโลยีได้เป็นที่สนใจของคนทุกมุมโลกทุกสาขา เทคโนโลยีจึงเป็นที่แพร่หลายและนำมาใช้ในการทำงานและชีวิตประจำวัน การเรียนการศึกษาในสมัยนี้จึงมีหลักสูตรที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีเข้าไปด้วย เทคโนโลยีที่ล้ำหน้าที่สุดที่คนทั่วโลกให้ความสำคัญคือเทคโนโลยีสารสนเทศ เพราะปัจจุบันนี้อุปกรณ์หลายชนิดก็ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีสารสนเทศ ไม่ว่าจะเป็น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ มือถือ อินเทอร์เน็ต PDA GPS ดาวเทียม และไม่นานมานี้มีการออกพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เป็นการบ่งบอกว่าสังคมให้ความสำคัญแก่คอมพิวเตอร์


อาซีโม หุ่นยนต์เลียนแบบมนุษย์ของบริษัทฮอนด้า



นวัตกรรม คืออะไร


นวัตกรรม

นวัตกรรม หมายถึงการทำสิ่งต่างๆด้วยวิธีใหม่ๆ และยังอาจหมายถึงการเปลี่ยนแปลงทางความคิด การผลิต กระบวนการ หรือองค์กร ไม่ว่าการเปลี่ยนนั้นจะเกิดขึ้นจากการปฏิวัติ การเปลี่ยนอย่างถอนรากถอนโคน หรือการพัฒนาต่อยอด ทั้งนี้ มักมีการแยกแยะความแตกต่างอย่างชัดเจน ระหว่างการประดิษฐ์คิดค้น ความคิดริเริ่ม และนวัตกรรม อันหมายถึงความคิดริเริ่มที่นำมาประยุกต์ใช้อย่างสัมฤทธิ์ผล (Mckeown, 2008) และในหลายสาขา เชื่อกันว่าการที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะเป็นนวัตกรรมได้นั้น จะต้องมีความแปลกใหม่อย่างเห็นได้ชัด และไม่เป็นแค่เพียงการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เป็นต้นว่า ในด้านศิลปะ เศรษฐศาสตร์ เศรษฐกิจ และนโยบายของรัฐ ในเชิงเศรษฐศาสตร์นั้น การเปลี่ยนแปลงนั้นจะต้องเพิ่มมูลค่า มูลค่าของลูกค้า หรือมูลค่าของผู้ผลิต เป้าหมายของนวัตกรรมคือการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวก เพื่อทำให้สิ่งต่างๆเกิดเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น นวัตกรรมก่อให้ได้ผลิตผลเพิ่มขึ้น และเป็นที่มาสำคัญของความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ
นวัตกรรมเป็นหัวข้อหลักในการศึกษาด้านเศรษฐศาสตร์ ธุรกิจ เทคโนโลยี สังคมศาสตร์ และวิศวกรรม และหากพูดกันแบบภาษาชาวบ้านแล้ว คำว่า 'นวัตกรรม' มักจะหมายถึงผลลัพธ์ของกระบวนการ และในฐานะที่นวัตกรรมมักจะได้รับการยกย่องว่าเป็นกลไกสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจ ปัจจัยที่นำไปสู่นวัตกรรม มักได้รับความสำคัญจากผู้ออกนโยบายว่าเป็นเรื่องวิกฤติ
ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรงในการนำนวัตกรรมมาประยุกต์ใช้ในสาขาใดสาขาหนึ่ง มักจะเรียกว่าเป็นผู้บุกเบิกในสาขานั้น ไม่ว่าจะเป็นในนามบุคคล หรือองค์กร


นวัตกรรมในองค์กร

ในบริบทขององค์กร เราอาจเชื่อมโยงนวัตกรรมเข้ากับสมรรถนะ และ การเติบโต ด้วยการพัฒนาประสิทธิภาพ ความสามารถในการผลิต คุณภาพ จุดยืนด้วยความสามารถในการแข่งขัน ส่วนแบ่งการตลาด ฯลฯ องค์กรทุกองค์กรสามารถสร้างนวัตกรรมได้ อาทิเช่น โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย และรัฐบาลท้องถิ่น

นวัตกรรม

มีผู้ให้ความหมายไว้มากมาย ในยุคแรกๆ จะพูดถึงอะไรที่เป็นสิ่งใหม่ๆ เท่านั้น ต่อมา โรเจอร์ ได้เริ่มกล่าวถึง การแพร่กระจายของนวัตกรรมด้วย Diffusion of Innovation อย่างไรก็ดี คำจำกัดความที่ดูเหมือนจะครอบคลุมที่สุด คือ Invention + Commercialization หรือ ต้องมีการนำสิ่งประดิษฐ์ที่คิดว่าใหม่ ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้จริง ทั้งทางธุรกิจ หรือ ทางสังคม ทั้งนี้รูปแบบของนวัตกรรม ก็สามารถแบ่งออกเป็นได้ตามรูปแบบ (Product, Service, Process) หรือ อาจแบ่งตามระดับความใหม่ก็ได้ ซึ่งจะแบ่งออกเป็น 4 กลุ่มด้วยกัน ได้แก่ Incremental, Modular, Architectural และ Radical Innovation Teerapon.T (2008) กล่าวถึง Innovation หรือ นวัตกรรมว่า อาจหมายถึง สิ่งประดิษฐ์ หรือ สิ่งใหม่ ที่ต้องสร้างให้เกิด Value Creation คือ นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้นั่นเอง


รูปปั้น เดอะ สปิริต ออฟ อินโนเวชัน เป็นรูปปั้นเชิงสัญลักษณ์ สร้างขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนของนวัตกรรม ตั้งอยู่ที่ ดิ อเมริกัน แอดเวนเจอร์

คุณธรรมของครู

คุณธรรมของครู

คุณธรรมของครู

เนื่องจากสภาพสังคมเปลี่ยนแปลงไปจนเกิดผลกระทบต่อการประพฤติปฏิบัติของครู  ทำให้คุณธรรมของครูตกต่ำ  จนเกิดวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับวิชาชีพครูในขณะนี้  อย่างไรก็ตามครูมีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศมากที่สุดวิชาชีพหนึ่ง  ดังนั้นจึงมีการพัฒนาคุณธรรมของครู  เพราะคุณธรรมกับครูเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้  หากครูขาดคุณธรรมความเป็นปูชนียบุคคลของครูก็จะหมดไป
ความหมายของคุณธรรม
พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน  พุทธศักราช  2525  ให้ความหมายของคุณธรรมไว้ว่า  เป็นสภาพคุณงามความดี  (ราชบัณฑิตยสถาน.  2525 : 187)
คาร์เตอร์ วี. กู๊ด  (Carter V. Good.  1973 : 641)  ให้ความหมายคุณธรรม  ไว้ว่า  คุณธรรมคือ  คุณลักษณะที่ดีงาม หรือพฤติกรรมที่ปฏิบัติจนเป็นนิสัย  และการที่บุคคลได้กระทำตามความคิดและมาตรฐานของสังคมในทางความประพฤติและจริยธรรม
ความสำคัญของคุณธรรม
คุณธรรมเป็นเสมือนหลักการสำคัญที่ให้ไว้สำหรับบุคคลหรือสังคมได้นำไปประยุกต์ใช้ในการดำรงชีวิต  จะช่วยให้บุคคลปฏิบัติงานได้อย่างราบรื่น  มีความสำเร็จในงานที่ทำ  เป็นคนดีของครอบครัว  สังคม และประเทศชาติ  สำหรับครูกับคุณธรรมนั้นจะต้องเป็นของคู่กัน  หากครูขาดคุณธรรมเมื่อใดก็เหมือนกับนักบวชที่ไร้ศีล
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานหลักคุณธรรมสำหรับคนไทยในพระราชพิธีบวงสรวงสมเด็จพระบูรพมหากษัตริยาธิราชเจ้า  ณ  ท้องสนามหลวง  วันจันทร์ที่  5  เมษายน  พ.ศ. 2525  ทั้งนี้เพื่อยึดถือปฏิบัติมีอยู่  4  ประการ  คือ
ประการแรก      คือ     การรักษาความสัจ  ความจริงใจต่อตัวเอง ที่จะประพฤติปฏิบัต       แต่สิ่งที่เป็นประโยชน์และเป็นธรรม
ประการที่สอง    คือ     การรู้จักข่มใจตนเอง  ฝึกใจตนเอง  ให้ประพฤติปฏิบัติอยู่ในความสัจ  ความดีนั้น
ประการที่สาม    คือ     การอดทน  อดกลั้น  และอดออม  ที่จะไม่ประพฤติล่วงความสัจ  สุจริต  ไม่ว่าจะด้วยเหตุประการใด
ประการที่สี่       คือ     การรู้จักละวางความชั่ว  ความสุจริต  และรู้จักสละประโยชน์ส่วนน้อยของตนเพื่อประโยชน์ส่วนใหญ่ของบ้านเมือง
คุณธรรมทั้ง  4  ประการนี้จะช่วยให้ประเทศชาติบังเกิดความสุข  ร่มเย็น  โดยเฉพาะผู้ที่เป็นครู  จำเป็นต้องยึดถือปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของตนเองและผู้อื่น
ตามเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพครูของคุรุสภา  ซึ่งได้จากการประชุมสัมมนาวิชาชีพครูครั้งที่  6  ระหว่างวันที่  27 – 28  เมษายน  พ.ศ. 2532  ได้สรุปว่า  บุคคลที่ประกอบวิชาชีพครูมีลักษณะพื้นฐาน  4  ประการ  คือ  รอบรู้  สอนดี  มีคุณธรรมตามจรรยาบรรณและมุ่งมั่นพัฒนาตนเอง  (สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา.  2532 : 6 – 9)
ในที่นี้จะนำมากล่าวเฉพาะในส่วนที่เป็นข้อคุณธรรมตามจรรยาบรรณ  ซึ่งมีคุรุสภากำหนดไว้  9  ข้อ  ดังต่อไปนี้
1.  มีเมตตากรุณา  พฤติกรรมหลัก  คือ  มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่  ช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานและสังคม  มีความสนใจและห่วงใยในการเรียนและความประพฤติของนักเรียน  ส่วนพฤติกรรมบ่งชี้  คือ  ไม่นิ่งดูดายและเต็มใจช่วยเหลือผู้อื่นตามกำลังความสามารถ  ให้ความรักความเอาใจใส่ช่วยเหลือดูแลเด็กให้ได้รับความสุขและพ้นทุกข์  เป็นกันเองกับนักเรียน  เพื่อให้นักเรียนมีความรู้สึกเปิดเผยไว้วางใจ  และเป็นที่พึ่งของนักเรียน
2.  มีความยุติธรรม  พฤติกรรมหลัก  คือ  มีความเป็นธรรมต่อนักเรียนและมีความเป็นกลาง  ส่วนพฤติกรรมบ่งชี้  คือ  เอาใจใส่และปฏิบัติต่อนักเรียนทุกคนอย่างเสมอภาคและไม่ลำเอียง  ตัดสินปัญหาของนักเรียนด้วยความเป็นกลาง  ยินดีช่วยเหลือนักเรียน  ผู้ร่วมงานและผู้บริหารโดยไม่เลือกที่รักมักที่ชัง
3.  มีความรับผิดชอบ  พฤติกรรมหลัก  คือ  มุ่งมั่นในผลงาน  ใช้เวลาอย่างคุ้มค่าและปฏิบัติหน้าที่ครบถ้วน  ส่วนพฤติกรรมบ่งชี้  คือ  มีวิธีการที่จะปฏิบัติงานให้บรรลุวัตถุประสงค์  วางแผนการใช้เวลาอย่างเหมาะสม  และปฏิบัติงานให้ทันเวลา  ใช้เวลาคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ  วางแผนการปฏิบัติงานอย่างมีระบบ  ปฏิบัติงานตามแผนได้เสร็จและมีประสิทธิภาพ  มีความรอบคอบ  ระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ทุกด้าน  ปฏิบัติภารกิจทุกด้านได้ครบตามความสามารถและประเมินผลการปฏิบัติงานได้อย่างเหมาะสม
4.  มีวินัย  พฤติกรรมหลัก  คือ  มีวินัยในตนเอง และปฏิบัติตามกฎและระเบียบ  ส่วนพฤติกรรมบ่งชี้  คือ  ควบคุมตนเองให้ปฏิบัติตนอย่างถูกต้องตามทำนองคลองธรรม  มีวิธีทำงานที่เป็นแบบอย่างที่ดีแก่ผู้อื่นได้  ปฏิบัติตามกฎและระเบียบของหน่วยงานและสถานศึกษาปฏิบัติหน้าที่การงานเป็นไปตามขั้นตอน
5.  มีความขยัน  พฤติกรรมหลัก คือ  มีความตั้งใจและมีความพยายาม  ส่วนพฤติกรรมบ่งชี้  คือ  กระตือรือร้นและปฏิบัติงานเต็มความสามารถอย่างสม่ำเสมอ  ไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคในการทำงาน  และมีความพยายามที่จะสอนเด็กให้บรรลุจุดหมาย
6.  มีความอดทน  พฤติกรรมหลัก  คือ  อดทนเมื่อเกิดอุปสรรค และมีความสามารถในการควบคุมอารมณ์  ส่วนพฤติกรรมบ่งชี้  คือ  ปฏิบัติงานเต็มไม่ทิ้งขว้างกลางคัน  ไม่โกรธง่าย และสามารถควบคุมอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม และอดทนอดกลั้นคำวิพากษ์วิจารณ์
7.  มีความประหยัด  พฤติกรรมหลัก  คือ  รู้จักประหยัดและออม  และใช้ของให้คุ้มค่าส่วนพฤติกรรมบ่งชี้  คือ  ช่วยรักษาและใช้ของส่วนรวมอย่างประหยัด  ไม่ใช้จ่ายฟุ่มเฟือยเกินฐานะของตน  รู้จักเก็บออมทรัพย์  เพื่อความมั่นคงของฐานะ  และรู้จักใช้และเก็บรักษาของอย่างถูกวิธี
8.  มีความรักและศรัทธาในอาชีพครู  พฤติกรรมหลัก  คือ  เห็นความสำคัญของอาชีพครูและรักษาชื่อเสียงวิชาชีพครู  ส่วนพฤติกรรมบ่งชี้  คือ  สนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรวิชาชีพครู  เข้าร่วมกิจกรรมวิชาชีพครู  ร่วมมือและส่งเสริมให้มีการพัฒนามาตรฐานวิชาชีพครู  ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ให้เกิดผลดีและเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมเป็นสำคัญ  รักษาความสามัคคีและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในหน้าที่การงาน  ปกป้องและสร้างความเข้าใจอันดีต่อสังคมเกี่ยวกับวิชาชีพครู
9.  มีความเป็นประชาธิปไตยในการปฏิบัติงานและการดำรงชีวิต  พฤติกรรมหลัก  คือ  รังฟังความคิดเห็นของผู้อื่น  และมีเหตุผล  ส่วนพฤติกรรมบ่งชี้  คือ  เปิดโอกาสให้ผู้อื่นแสดงความคิดเห็น  รับฟังความคิดเห็นและข้อโต้แย้งของผู้อื่น  ยอมรับและปฏิบัติตามความคิดที่มีเหตุผล  โดยคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก  และใช้หลักการและเหตุผลในการตัดสินใจและแก้ปัญหา
ต่อมาในปี  พ.ศ. 2539  คุรุสภาประกาศใช้จรรยาครูใหม่  วันที่  7  พฤษภาคม  พ.ศ. 2539  เพื่อให้เหมาะสมกับครูไทยในยุคปัจจุบัน  จะเห็นได้ว่าจรรยาบรรณ  5  ข้อแรก  มีความสำคัญในระดับที่ครู  “ต้อง”  กระทำหรือไม่กระทำ  ส่วน  4  ข้อหลังมีน้ำหนักลดหลั่นกันลงมา  แต่ก็สำคัญและจำเป็นต่อความเป็นครู  โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูระดับ  “มืออาชีพ”   จรรยาบรรณแต่ละข้อมีข้อความที่กระชัก  กะทัดรัดและเจาะจง  แต่การตีความและความเข้าใจของแต่ละคนอาจแตกต่างกันบ้างในรายละเอียด  ดังนั้นคุรุสภาจึงได้จัดทำคำอธิบายขึ้น  เพื่อชี้ให้เห็นเจตนารมณ์และความมุ่งหมายของจรรยาบรรณครูแต่ละข้อเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้าใจตรงกัน  (สำนักงานเลขาธิการคุรุสภา.  2540)
จรรยาบรรณข้อที่  1 ครูต้องรักและเมตตาศิษย์  โดยให้ความเอาใจใส่ช่วยเหลือส่งเสริม  ให้กำลังใจในการศึกษาเล่าเรียนแก่ศิษย์โดยเสมอหน้า
จรรยาบรรณข้อที่  2 ครูต้องอบรม  สั่งสอน  ฝึกฝน  สร้างเสริมความรู้  ทักษะ และนิสัยที่ถูกต้องดีงามให้แก่ศิษย์อย่างเต็มความสามารถด้วยความบริสุทธิ์ใจ
จรรยาบรรณข้อที่  3 ครูต้องประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์  ทั้งทางกาย  วาจา และจิตใจ
จรรยาบรรณข้อที่  4 ครูต้องไม่กระทำตนเป็นปฏิปักษ์ต่อความเจริญทางกาย  สติปัญญา  จิตใจ  อารมณ์  สังคมของศิษย์
จรรยาบรรณข้อที่  5 ครูต้องไม่แสวงประโยชน์อันเป็นอามิสสินจ้างจากศิษย์  ในการปฏิบัติหน้าที่ตามปกติและไม่ใช้ศิษย์กระทำการใดๆ  อันเป็นการหาประโยชน์ให้แก่ตนโดยมิชอบ
จรรยาบรรณข้อที่  6 ครูย่อมพัฒนาตนเองทั้งในด้านวิชาชีพ  ด้านบุคลิกภาพ  และวิสัยทัศน์  ให้ทันต่อการพัฒนาทางวิทยาการ  เศรษฐกิจ  สังคมและการเมืองอยู่เสมอ
จรรยาบรรณข้อที่  7 ครูย่อมรักและศรัทธาในวิชาชีพครู  และเป็นสมาชิกที่ดีขององค์การวิชาชีพ
จรรยาบรรณข้อที่  8 ครูพึงช่วยเหลือเกื้อกูลครูและชุมชนในทางสร้างสรรค์
จรรยาบรรณข้อที่  9 ครูพึงประพฤติ  ปฏิบัติตน  เป็นผู้นำในการอนุรักษ์ และพัฒนาภูมิปัญญาไทย และวัฒนธรรมไทย

ดังนั้นผู้ที่เป็นครูจึงต้องมีคุณธรรม  ซึ่งเป็นคุณธรรมของครู  หมายถึง  คุณสมบัติที่เป็นความดี  ความถูกต้อง  เหมาะสม  ซึ่งมีอยู่ภายในจิตใจของครู และเป็นแรงผลักดันให้ครูกระทำหน้าที่ของครูอย่างถูกต้องเหมาะสมได้อย่างสมบูรณ์  ซึ่ง  ยนต์  ชุ่มจิต (2531 : 141 – 142)  ได้สรุปความสำคัญของคุณธรรมของครูไว้  4  ด้าน  คือ
  1. ด้านตัวครู
1.1     สัมมาทิฏฐิ  การเห็นชอบ  หมายถึง  การเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม  เป็นแสงสว่างส่องทางให้พ้นทุกข์  ครูทั้งหลายหากมีสัมมาทิฏฐิและถือปฏิบัติเป็นอย่างดีย่อมเป็นครู
1.2  สัมมาสังกัปปะ  การดำริชอบ  หมายถึง  การคิดอย่างฉลาด  รอบคอบ  รู้จัก  ไตร่ตรอง  เป็นผู้มีวิธีคิด  รู้จักใช้ความคิดในทางที่ถูกต้องดีงาม  คิดในทางสร้างสรรค์ และเป็นประโยชน์ทั้งต่อตนเอง  ต่อศิษย์ และต่อสังคม
1.3  สัมมาวาจา  การพูดจาชอบ  หมายถึง  การไม่พูดจาส่อเสียด  ไม่เพ้อเจ้อ  ไม่พูดหยาบและไม่พูดปดพูดเท็จ  วิธีพูดของครูมีผลต่อความรู้สึกและจิตใจของศิษย์เสมอ  หากครูพูดด้วยความจริงใจ  อ่อนโยน  ไพเราะ  ย่อมทำให้ศิษย์มีความเคารพและรักนับถือ
1.4  สัมมากัมมันตะ  การทำการงานชอบ  หมายถึง  การกระทำกิจการต่างๆ  ด้วยความเต็มใจ  และตั้งใจอย่างเต็มความสามารถ  เพื่อให้เกิดผลดีต่อผู้เกี่ยวข้อง
1.5     สัมมาอาชีพ  การเลี้ยงชีวิตชอบ  หมายถึง  การทำอาชีพสุจริต  และไม่ผิดกฎหมายทั้งหลาย
1.6  สัมมาวายามะ  การเพียรชอบ  หมายถึง  การมุ่งมั่นพยายามในทางดี  ครูต้องมีความเพียร  คือ  พยายามศึกษาหาความรู้อยู่เสมอ  มีมานะพยายามสร้างความก้าวหน้าในชีวิตและหน้าที่การงานตามทำนองคลองธรรม
1.7  สัมมาสติ  การระลึกชอบ  หมายถึง  การพิจารณาไต่ตรองในทางที่ถูก  ทั้งมีสติปัญญาเฉียบแปลมรอบคอบ  ในการผจญปัญหาต่างๆ
1.8  สัมมาสมาธิ  ความตั้งใจมั่นชอบ  หมายถึง  การตั้งอยู่ในความสงบ  ไม่ปล่อยให้กิเลสทั้งหลายเกิดขึ้นจนทำให้หลงผิด  หากครูผู้มีความตั้งใจมั่นชอบย่อมเป็นผู้ประสพความสำเร็จในการดำเนินอาชีพครู
สรุป  อริยมรรคนี้จำแนกได้เป็น  3  กลุ่ม  คือ
กลุ่มแรก  ได้แก่  สัมมาทิฏฐิกับสัมมาสังกัปปะเป็นเรื่องของปัญญาหรือความสว่าง  กล่าวคือ  ผู้มีปัญญาหรือความสว่างย่อมรู้  และคิดในทางที่ถูกและที่ดี
กลุ่มที่สอง  คือ  สัมมาวาจา  สัมมากัมมันตะ  และสัมมาอาชีวะ  เป็นกลุ่มธรรมที่เกี่ยวกับการรักษาศีลหรือความสะอาด  ผู้มีธรรมเหล่านี้ย่อมไม่เกิดความสับสน  วุ่นวาย  ทะเลาะเบาะแว้งแข่งขันชิงดีชิงเด่น
กลุ่มสุดท้าย  คือ  สัมมาวายามะ  สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ  เป็นธรรมที่เกี่ยวกับสมาธิหรือความสงบ
  1. พรหมวิหาร  4  เป็นธรรมที่ค้ำจุนโลก  ครูจะต้องมีธรรมประจำใจอันประเสริฐนี้เพื่อเป็นหลักประพฤติปฏิบัติตนที่ดีงาม  ได้แก่
2.1     เมตตา  คือ  ความรักใคร่  ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข  มีจิตใจที่ดีงาม  ผู้ที่เป็นครูอาจารย์จะต้องมีเมตตาเป็นที่ตั้ง
2.2     กรุณา  ความสงสาร  เอ็นดูศิษย์  พึงช่วยเหลือให้พ้นจากความทุกข์และความไม่รู้
2.3  มุทิตา  คือ  ความชื่นชมยินดีเมื่อศิษย์ได้ดี  และยกย่องเชิดชูให้ปรากฏ  อันเป็นการให้กำลังใจและช่วยให้เกิดความภูมิใจในตนเอง
2.4  อุเบกขา  คือ  การวางตัววางใจเป็นกลาง  อันจะให้ดำรงอยู่ในธรรมตามที่พิจารณาเห็นด้วยปัญญา  มีจิตเรียบตรงเพียงธรรมดุจตราชั่ง  ไม่เอนเดียงด้วยรักหรือชัง  พร้อมที่จะวินิจฉัยและปฏิบัติไปตามธรรม  พร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือเกื้อกูลเมื่อผู้อื่นร้อนเป็นทุกข์
  1. ฆราวาสธรรม  4  เป็นหลักธรรมที่ให้แนวคิดเกี่ยวกับการครองเรือน  และหลักการครองชีวิตของคฤหัสถ์  มี  4  ประการ  คือ
3.1  สัจจะ  คือ  ความจริง  ความซื่อตรง  ซื่อสัตย์ และจริงใจ  ซึ่งจำแนกออกได้เป็นสัจจะต่อตนเอง  ต่อผู้อื่น  ต่อหน้าที่การงาน และต่อประเทศชาติ
3.2     ทมะ  คือ  การฝึกฝน  การข่มใจ  ฝึกนิสัย  รู้จักควบคุมจิตใจ  แก้ไขข้อบกพร่อง   ตั้งมั่นในจุดหมาย  ไม่ท้อถอย
3.3  จาคะ  คือ  การเสียสละ  การให้รู้จักละกิเลส  มีใจกร้าวพร้อมที่จะรับฟังความทุกข์  ความคิดเห็น  แสดงความต้องการของผู้อื่น  พร้อมที่จะร่วมมือ  ช่วยเหลือ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น
  1. สังคหวัตถุ  4  เป็นหลักธรรมที่ให้แนวคิดเกี่ยวกับการยึดเหนี่ยวจิตใจบุคคล และการประสานความสามัคคีในกลุ่มคน  ประกอบด้วย
4.1     ทาน  หมายถึง  การให้  ครูอาจารย์จะต้องให้คำแนะนำสั่งสอน   ให้ความรู้และความเข้าใจในเรื่องต่างๆ
4.2  ปิยวาจา  หมายถึง  พูดจาด้วยน้ำใจหวังดี  มุ่งให้เป็นประโยชน์และเกิดผลดี  ทำให้เกิดความเชื่อถือและเคารพนับถือ
4.3  อัตถจริยา  หมายถึง  การประพฤติอันเป็นประโยชน์  การขวนขวายช่วยเหลือกิจการสาธารณประโยชน์  ตลอดจนช่วยแก้ไขปรับปรุงส่งเสริมในทางจริยธรรมแก่ผู้อื่น
4.4  สมานัตตตา  หมายถึง  การทำตนให้เสมอต้นเสมอปลาย  ตลอดจนการวางตัวให้เหมาะแก่ฐานะ  ภาวะ  บุคคล  เหตุการณ์และสิ่งแวดล้อม
  1. อิทธิบาท  4  เป็นหลักธรรมที่ทำให้ทำงานประสพความสำเร็จ  ประกอบด้วย
5.1  ฉันทะ  คือ  ความพึงพอใจ  ความต้องการที่จะทำ  ใฝ่ใจรักจะทำสิ่งนั้นอยู่เสมอ  และปรารถนาทำให้ได้ผลดียิ่งๆ  ขึ้นไป
5.2     วิริยะ  คือ  ความเพียร  ขยันหมั่นเพียรประกอบสิ่งนั้นๆ  ด้วยความพยายามเข้มแข็งอดทน
5.3  จิตตะ  คือ  ความคิดตั้งจิตรับรู้ในสิ่งที่ทำและทำสิ่งนั้นด้วยความคิด  เอาจิตฝักใฝ่ไม่ปล่อยใจให้ฟุ้งซ่านจากสิ่งที่ต้องรับผิดชอบ
5.4  วิมังสา  คือ  ความไตร่ตรอง  หมั่นใช้ปัญญาพิจารณาใคร่ครวญตรวจตราหาเหตุผล และมีการวางแผน  ปรับปรุงงานอยู่เสมอ

การพัฒนาคุณธรรมของครู

คุณธรรมเป็นอุปนิสัยอันดีงามที่สะสมอยู่ในจิตใจ  ซึ่งได้มาจากความเพียรพยายามที่จะประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ถูกต้อง  ดีงาม  ติดต่อกันมาเป็นเวลานาน  คุณธรรมจะมีความสัมพันธ์กับหน้าที่ เพราะกระทำหน้าที่จนเป็นนิสัย  พัฒนาคุณธรรมของครูควรจะเริ่มต้นที่
  1. คุณธรรมทางสติปัญญา  รวมทั้งความรู้ทางทฤษฎี และแนวทางในการปฏิบัติหน้าที่ส่งผลต่อความมีเหตุผลในการทำหน้าที่
  2. คุณธรรมทางศีลธรรม  คือ  ความมีจิตสำนึกในสิ่งที่ดีงาม และเหตุผล  คุณธรรมทางศีลธรรมไม่ได้เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ หรือติดตัวมาแต่กำเนิด  หากแต่สร้างขึ้นด้วยความรู้สึกผิดชอบชั่วดีในทางศีลธรรม  ซึ่งจะสะสมอยู่ภายในจิตใจของครู

คุณธรรมบ่อเกิดแห่งความสุขและความสำเร็จ

ครูเป็นบุคคลที่สังคมคาดหวังว่าจะเป็นแบบอย่างที่ดีแก่ศิษย์และสังคม  ครูถือว่าเป็นบัณฑิตหรือผู้รู้  ครูจึงเป็นที่คาดหวังว่าจะมีคุณธรรมอันจะสามารถยกย่องได้ว่าเป็นบุคคลที่ควรเคารพบูชาหรือเป็นปูชนียบุคคล  ซึ่งครูควรเป็นคนดีมีศีลธรรม  ซึ่งท่านอาจารย์มั่น  ภูริทัตตเถระ  (2542 : 7)  ได้กล่าวไว้ดังนี้
หาคนดีมีศีลธรรมในใจ  หายากยิ่งกว่าเพชรนิลจินดา   ได้คนเป็นคนดีเพียงคนเดียว  ย่อมมีคุณค่ามากกว่าเงินเป็นล้านๆ  เพราะเงินล้านๆ  ไม่สามารถทำความร่มเย็นให้แก่โลกได้อย่างถึงใจเหมือนได้คนดีมาทำประโยชน์  คนดีแม้เพียงคนเดียวยังสามารถทำความเย็นให้แก่โลกได้มากมายและยั่งยืน  เช่น  พระพุทธเจ้า  และพระสาวกทั้งหลายเป็นตัวอย่าง  คนดีแต่ละคนมีคุณค่ามากกว่าเงินเป็นก่ายกอง  เป็นคุณค่าแห่งความดีของตนที่จะทำต่อไป  มากกว่าเกิน  แม้จะจนก็ยอมจนขอแต่ให้ตัวดีและโลกมีความสุข  แต่คนโง่ชอบเงินมากกว่าคนดี  ขอแต่ได้เงินแม้ถ้าตัวจะเป็นอย่างไรไม่สนใจคิด  สนใจดู  ถึงจะชั่วช้าลามกหรือแสนโสมมเพียงไรไม่หลีกเลี่ยง  ขนาดยมบาลเกลียดกลัวไม่ยอมนับเข้าบัญชีผู้ต้องหา  กลัวจะไปทำลายสัตว์นรกด้วยกันให้เดือดร้อน  ขอแต่ได้เงินก็เป็นที่พอใจ  ส่วนจะผิดถูกประการใดเขาไม่ยุ่งเกี่ยว  คนดีกับคนชั่ว  สมบัติเงินทองกับธรรมะ  คือ  คุณความดีผิดกันอย่างนี้แล
ในเรื่องคุณความดี  ธรรมต่างๆ  ที่ครูพึงศึกษาให้ชีวิตมีความสุขและความสำเร็จนั้น  ได้กล่าวมาบ้างแล้วตั้งแต่บทที่  1  จนถึงบทที่  3  ได้กล่าวถึงปัญหาทางด้านคุณธรรมในสังคมไทย  ซึ่งเกิดขึ้นได้กับทุกคน  แม้แต่กับครูเอง  แต่ปัญหาเหล่านั้นจะน้อยลงหรือหมดไปถ้าครูมีคุณธรรม  ซึ่งครูที่ดีจึงควรได้ศึกษาถึงคุณธรรมที่จะเป็นบ่อเกิดแห่งความสุขและความสำเร็จในชีวิตการเป็นครูจะได้เป็นบุคคลที่สมควรเคารพบูชาหรือปูชนียบุคคล
จากการสำรวจมาตรฐานความประพฤติของครู  โดยกองมาตรฐานวิชาชีพครู  (2532 : 26)  พบว่า  จำนวนครูที่มีอยู่ในการสำรวจ  532,703  คน  มีครูที่มีความประพฤติผิดนอกรีดนอกรอยในทุกกรณีที่มีความผิด  มีจำนวนเพียง  948  คน  ซึ่งคิดเป็นร้อยละ  0.18
ถ้ามาพิจารณาดูด้วยใจที่เป็นกลาง  ผู้เขียนเห็นว่ามีครูบางส่วน  หรือจำนวนน้อยที่มีข้อบกพร่อง  มีปัญหาทำให้ไม่สามารถปฏิบัติตนให้เป็นครูที่ดีได้  คิดแล้วยังไม่ถึงหนึ่งเปอร์เซนต์  แสดงว่ามีครูดีอยู่ถึง  99  เปอร์เซนต์  แต่อย่างไรก็ตาม  ถ้าครูที่มีปัญหาเหล่านั้นเป็นข่าวในหน้าหนังสือพิมพ์  หรือแพร่ในสังคม  คนทุกคนก็จะถูกกระทบกระเทือนไปด้วย  เพราะสังคมพิจารณาและเห็นว่า  ครูเป็นผู้ทำผิดไม่ได้  ครูขาดคุณธรรมก็ไม่ได้เช่นกัน  เพราะครูเป็นบุคคลที่สังคมไว้วางใจ  ให้การยกย่องนับถือ  ต้องการให้เป็นแบบอย่างหรือผู้นำที่ดีแก่ลูกหลานของบุคคลในสังคม  การประพฤติตนที่มีปัญหาทั้งกับตัวเองกับลูกศิษย์ และกับสังคม  ย่อมเป็นการทำลายคุณค่าในอาชีพครูและตัวครูเอง
ฉะนั้นครูที่ดีและผู้ที่จะเป็นครูในอนาคตจึงควรศึกษาหลักธรรมในพุทธศาสนาให้เข้าใจ และนำไปปฏิบัติให้ได้ผลดีต่อตนเอง  ต่อลูกศิษย์และต่อประเทศชาติ
คุณธรรมที่จะช่วยให้ครูได้ประกอบอาชีพอย่างมีคุณค่า  จะช่วยให้ครูยังเป็นปูชนียบุคคล  ที่จะกล่าวต่อไปมีหลายด้าน  ในที่นี้จะแบ่งเป็น  3  ด้านใหญ่ๆ  คือ
  1. ธรรมะใช้ปฏิบัติเป็นพื้นฐานของชีวิต
  2. ธรรมะที่พึงปฏิบัติเพื่อความเจริญของส่วนรวม
  3. ธรรมะที่พึงปฏิบัติเพื่อความเจริญส่วนตัว
ทฤษฎีและแนวคิดการพัฒนาคุณธรรม
การพัฒนาคุณธรรมของมนุษย์มีการพัฒนาเป็นลำดับจากวัยทารกจนถึงตลอดชีวิตต้นกำเนิดของแหล่งที่ก่อให้เกิดการพัฒนาทางคุณธรรมมาจากอิทธิพลของสังคมและพันธุกรรมคำว่า สังคม ในที่นี้คือ สิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็กทั้งที่เป็นบุคคล และสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติอื่นๆ ส่วนพันธุกรรม ได้แก่ ความสามารถในการรู้คิด และพัฒนาขึ้นตามลำดับขั้นอายุ วุฒิภาวะหรือประสบการณ์ที่ผู้นั้นประสบอยู่ การพัฒนามีลักษณะทฤษฎีที่สำคัญแบ่งเป็น 3 แนวทางใหญ่คือ (ประภาศรี สีหอำไพ. 2543 : 29-37)
1. ทฤษฎีจิตวิเคราะห์ (Psychoanalytic Theory) ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดของฟรอยด์ (Freud) เชื่อว่า คุณธรรมกับมโนธรรม เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มนุษย์อยู่ในสังคมกลุ่มใดก็จะเรียนรู้ความผิดชอบชั่วดีจากสิ่งแวดล้อมในสังคมนั้น จนมีลักษณะพิเศษของแต่ละสังคมที่เรียกว่าเอกลักษณ์ เป็นกฎเกณฑ์ให้ประพฤติปฏิบัติตามข้อกำหนดโดยอัตโนมัติ คนที่ทำชั่วแล้วรู้สึกสำนึกเกิดหิริโอตตัปปะละอายใจตนเองถือว่าได้รับการลงโทษด้วยตนเอง เมื่อสำนึกแล้วพึงละเว้นไม่ปฏิบัติอีกโดยไม่ต้องมีสิ่งควบคุมจากภายนอก เป็นการสร้างมโนธรรมขึ้นมาโดยไม่จำเป็นต้องสนใจองค์ประกอบของลำดับขั้นพัฒนาการทางคุณธรรม
ในลักษณะทฤษฎีเช่นนี้บทบาทของการศึกษาคือ การพัฒนาทางด้านจิตใจเพื่อเสริมสร้างกำลังคนที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพตามที่ระบบเศรษฐกิจและสังคมต้องการ ปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือการศึกษาเพื่ออบรมฝึกฝนการนำสติปัญญาไปใช้เป็นประโยชน์แก่กล้ายิ่งขึ้น พยายามแสวงหาจุดมุ่งหมายเพื่ออบรมฝึกฝนการนำสติปัญญาไปใช้เป็นประโยชน์แก่กล้ายิ่งขึ้น พยายามแสวงหาจุดมุ่งหมายให้แก่ชีวิต คือ ความเป็นอยู่อย่างดีที่สุด หรือการมีอิสรภาพ กรศึกษาจึงเป็นกิจกรรมของชีวิต โดยชีวิต เพื่อชีวิต เป็นความสามารถเพื่อปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อม และรู้จักเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน (พระราชวรมุนี. 2518 : 71)
2. ทฤษฎีการเรียนรู้ทางสังคม (Social Learning Theory) เป็นกระบวนการสังคมประกิต โดยการซึมซาบ กฎ เกณฑ์ต่างๆ จากสังคมที่เติบโตมา รับเอาหลักการเรียนรู้เชื่อมโยงกับหลักการเสริมแรง และการทดแทนสิ่งเร้า รับแนวคิดของทฤษฎีจิตวิเคราะห์เป็นรูปแบบ โดยยึดถือว่าการเรียนรู้ คือ การสังเกตเลียนแบบจากผู้ใกล้ชิดเพื่อแรงจูงใจ คือ เป็นที่รักที่ยอมรับในกลุ่มพวกเดียวกับกลุ่มต้นแบบเพื่อเป็นพวกเดียวกัน
ในลักษณะเช่นสถาบันหรือกลุ่มสังคมมีอิทธิพลต่อการปลูกฝังและเสริมสร้างคุณธรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งคือโรงเรียน จะได้รับความคาดหวังจากสังคมอย่างมากในการเป็นสถาบันที่ปลูกฝังรูปแบบและเสริมสร้างการเลียนแบบจากตัวอย่างในสังคมให้แก่นักเรียนพึงระมัดระวัง
ในการสอน เพราะถ้าขาดความสามารถในการอธิบายเหตุผลให้เด็กเลียนแบบ ใช้อารมณ์และวางอำนาจแทน จะทำให้เด็กรู้สึกเป็นศัตรูต่อผู้ควบคุมพฤติกรรมทุกระดับ ตั้งแต่บิดามารดา ครู
ไปจนถึงตำรวจ พึงอบรมให้เด็กรู้จักผิดชอบชั่วดี รู้สึกละอายที่ทำชั่ว ความคิดเหตุผลและความสม่ำเสมอในการลงโทษและให้รางวัลเด็ก เป็นที่ยอมรับว่าโรงเรียนเป็นสถานศึกษาที่อบรมกล่อมเกลาให้นักเรียนมีคุณธรรมเป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของสังคมและประเทศชาติจึงมีหน้าที่ต้องจัดและพัฒนาสภาพแวดล้อมภายในโรงเรียนให้เอื้ออำนวยต่อการปลูกฝังและเสริมสร้างคุณธรรม (ชำเลือง วุฒิจันทร์. 2524: 140-142)
3. ทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญา (Cognitive Theory) แนวคิดของนักจิตวิทยากลุ่มนี้เห็นว่าคุณธรรมเกิดจากแรงจูงใจในการปฏิบัติตนสัมพันธ์กับสังคม การพัฒนาคุณธรรมจึงต้องมีการพิจารณาเหตุผลเชิงคุณธรรมตามระดับสติปัญญาของแต่ละบุคคล ซึ่งมีวุฒิภาวะสูงขึ้นการรับรู้คุณธรรมก็พัฒนาขึ้นตามลำดับ
นักจิตวิทยาที่สนใจศึกษาในแนวทฤษฎีพัฒนาการทางสติปัญญาคือ เพียเจต์ และโคลเบอร์ก
ทฤษฎีพัฒนาการทางคุณธรรมเพียเจต์
เพียเจต์ (Piaget. 1932 อ้างอิงใน ประภาศรี สีหอำไพ. 2543 : 30-35) เป็นผู้เริ่มศึกษาพัฒนาการทางคุณธรรมของเด็ก และมีความคิดว่าพัฒนาการทางคุณธรรมของมนุษย์นั้นขึ้นอยู่กับความฉลาดในการที่จะรับรู้เกณฑ์และลักษณะต่างๆ ทางสังคม ดังนั้นพัฒนาการทางคุณธรรมของบุคคลจึงขึ้นอยู่กับพัฒนาการทางสติปัญญาของบุคคลนั้นๆ และได้แบ่งชั้นของมนุษย์ออกเป็น 3 ขั้น คือ
1. ขั้นก่อนคุณธรรม (ตั้งแต่แรกเกิดจนถึง 2 ปี) ยังไมเกิดคุณธรรม แต่สามารถเรียนรู้จากประสาทสัมผัสและมีพัฒนาการทางสติปัญญาในขั้นต้น
2. ขั้นเชื่อฟังคำสั่ง (อายุ 2-8 ปี) เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสั่งสอนของผู้ใหญ่ มีการคิดก่อนปฏิบัติการตามคำสั่ง ซึ่งในขณะแรกเริ่มจะไม่คำนึงถึงเหตุผลของคำสั่งนั้น
3. ขั้นยึดหลักแห่งตน (อายุ 8-10 ปี) เกิดหลักความคิดพัฒนาการทางสติปัญญาสูงขึ้นตามประสบการณ์ทางสังคม คลายความเกรงกลัวอำนาจภายนอก เริ่มมีความคิดเป็นตัวของตัวเองมากขึ้น
จุดประสงค์หลักของเพียเจต์ คือ การสำรวจธรรมชาติในการตัดสินคุณธรรมของเด็กได้ทำวิจัยในเจนีวาโดยศึกษาเด็กเป็นรายบุคคลในเรื่อง ต่อไปนี้
1. เจตคติของเด็กที่มีต่อกฎ
2. การตัดสินของเด็กเกี่ยวกับความถูกต้องและความผิด
3. การประเมินค่าความยุติธรรมในการตัดสิน
เพียจ์ เริ่มกำหนดว่าความงอกงามในการตัดสินด้านคุณธรรมมีลำดับพัฒนาการเป็นระยะๆ โดยขึ้นอยู่กับการวางรูปแบบในความก้าวหน้าในการเรียนรู้ มากกว่าการเรียนรู้กฎโดยการให้รางวัลและการลงโทษ คือการลอกเลียนแบบอย่างเท่านั้น และได้กล่าวอีกว่า คุณธรรมประกอบขึ้นด้วยระบบของกฎและการคงอยู่ของคุณธรรม จะค้นหาได้จากความเชื่อถือ ซึ่งแต่ละรายบุคคลพยายามที่รับกฎเหล่านั้น
ทฤษฎีของโคลเบอร์ก (Kohlberg’s Theory)
โคลเบอร์ก (Kohlberg. 1981 อ้างอิงใน ประภาศรี สีหอำไพ. 2543 : 30-31) เป็นนักการศึกษาด้านคุณธรรมที่มีชื่อเสียงมาก เป็นผู้นำทฤษฎีจริยศึกษาที่สังเคราะห์เอาขอบเขตความรู้ทางปรัชญา จิตวิทยา สังคมวิทยา และศึกษาศาสตร์มาประกอบกันขึ้นเป็นทฤษฎีบูรณาการ (Integrated Theory) และนำเอามาใช้ในการจัดการด้านจริยศึกษา (Moral Education)
โคลเบอร์ก ได้ศึกษาพัฒนาการทางคุณธรรมตามแนวของเพียเจต์ และได้แบ่งระดับของคุณธรรมออกเป็น 3 ระดับ ซึ่งทั้ง 3 ระดับ จัดเป็นขั้นพัฒนาการทางคุณธรรมได้ 6 ขั้น ดังนี้ ดังปรากฏในตาราง 1
ตารางที่ 1 เหตุผลเชิงคุณธรรม 6 ขั้น ซึ่งแบ่งเป็น 3 ระดับ ในทฤษฎีพัฒนาการทางคุณธรรม
ของโคลเบอร์ก

ระดับของคุณธรรม
ขั้นการให้เหตุผลเชิงคุณธรรม
1. ก่อนเกณฑ์ (2-10 ปี)2. ตามเกณฑ์ (10-16 ปี)
3. เหนือเกณฑ์ (16 ปีเป็นต้นไป)
1. การเชื่อฟังและการลงโทษ (2-7 ปี)2. การแสวงหารางวัล (8-10 ปี)
3. การทำตามความเป็นชอบของผู้อื่น
4. การทำตามหน้าที่ในสังคม
5. การทำตามกฎเกณฑ์และข้อสัญญา
6. การยึดในมโนธรรมตามหลักสากล

โคลเบอร์ก วิเคราะห์หลักคุณธรรมว่าเป็นลำดับหรือระบบของแนวทางสำหรับเผชิญการเลือกที่จะปฏิบัติในสิ่งที่มีให้เลือกอย่างหลากหลายวิธี พัฒนาการทางคุณธรรมมี 6 ลำดับขั้นที่อาจนำไปใช้ในรูปแบบต่างๆ ที่จะเลือกได้ในสถานการณ์ของการพิจารณาสิ่งที่เป็นคุณธรรมลำดับขั้นของการพัฒนาการทางคุณธรรม มีดังต่อไปนี้
1. การเชื่อฟังและการลงโทษ พิจารณาในด้านประเด็นของการถือเอาอัตราของตัวเองเป็นใหญ่
2. การแสวงหารางวัล เป็นเป้าหมายตามลักษณะเฉพาะรายบุคคล และการแลกเปลี่ยนกันอย่างเสมอภาคที่ตกลงกัน เพื่อจะยอมรับความคิดเห็นของกันและกันในสังคม เพื่อแสวงหารางวัล
3. การทำความเห็นชอบของผู้อื่น ความสัมพันธ์และการทำตามรูปแบบตามที่ผู้อื่นเห็นชอบเป็นการแลกเปลี่ยนกันในความคาดหวัง การติดต่อประสานงานและความศรัทธายึดมั่นไว้วางใจต่อผู้อื่น โดยการปฏิบัติที่ดีงามต่อกันตามบทบาทและหน้าที่ของตน
4. การทำตามหน้าที่ในสังคม ระบบสังคมและความมีสติรับผิดชอบที่จะให้มีการดำเนินการตามหน้าที่ที่ตนกระทำในสังคมนั้น เพื่อรักษาระเบียบทางสังคมทำหน้าที่ของสังคมจึงต้องรักษาสถาบันให้ดำเนินไปอย่างราบรื่นโดยส่วนรวม
5. การทำตามกฎเกณฑ์และข้อสัญญา สิทธิพื้นฐานและพันธสัญญาทางสังคมที่จะใช้กับประชาชนโดยส่วนรวม จะต้องยึดถือค่านิยมซึ่งมีมากมายแตกต่างกันไป รวมทั้งความคิดเห็นซึ่งมีอยู่เฉพาะกลุ่ม นำมารวมกันเป็นพันธสัญญาของสังคมร่วมกัน
6. การยึดในมโนธรรมตามหลักสากล หลักคุณธรรมสากลถือเป็นการแนะแนวทางให้มนุษยชาติกระทำตามข้อกำหนดของสังคมพื้นฐานของแต่ละแห่งโดยภาพกว้างและลึก การถือเอาความเคารพนับถือในบุคคลอื่นเป็นจุดหมายมิใช่เป็นวิธีการ ความยุติธรรมคือสัจธรรม ไม่ขึ้นกับวัฒนธรรมเฉพาะแห่งหรือสังคมใดสังคมหนึ่งเท่านั้น
การวิเคราะห์คุณธรรมของโคลเบอร์ก เปิดเผยให้เห็นถึงเรื่องสำคัญ คือ
1. หลักคุณธรรม เป็นข้อปฏิบัติหรือแนวทางเมื่อต้องเผชิญกับทางเลือกในคุณธรรมหลายทาง และการปฏิบัติคุณธรรมต่างๆ
2. การตัดสินที่เป็นมาตรฐานจนยึดเป็นกฎเกณฑ์ในการแก้ปัญหาขัดแย้งต่างๆ ได้ตามความต้องการ หลักคุณธรรมจึงต้องเป็นไปตามหลักสากลและเป็นค่านิยมที่ได้รับการยอมรับนับถือโดยทั่วไป
จอห์น ดิวอี้ (John Dewey)
ดิวอี้ (Dewey.1975 อ้างอิงใน ประภาศรี สีหอำไพ. 2543 : 35-36) เสนอประเด็นที่ว่า หลักคุณธรรมจะไม่แยกออกจากชีวิตในสังคมของมนุษย์ ตราบใดที่ยังมีการสมาคมร่วมกันอยู่ดังนั้นโรงเรียนจึงเป็นรูปแบบของชีวิตในสังคม มิใช่เป็นการเตรียมตัวสำหรับบุคคลใดบุคคลหนึ่งโดยเฉพาะ
คุณธรรมคือ หลักความประพฤติที่มีการฝึกอบรมให้เป็นความประพฤติของพลเมืองดี โดยเน้นที่รายบุคคลเท่ากับที่ตระหนักถึงผลทางสังคมที่จะดำรงรูปแบบของสังคมนั้น ดังนั้นหลักคุณธรรมจึงไม่มีใครคนใดคนหนึ่งผูกขาดการตัดสิน ไม่ใช่เรื่องเหนือธรรมชาติไม่สร้างรูปแบบเฉพาะภูมิภาคหรือวิถีชีวิตเพียงใดอย่างหนึ่ง การแปลความหมายคุณธรรมในชีวิตสังคมซึ่งเต็มไปด้วยการเร่งรุดหน้าที่จะสร้างลักษณะนิสัยของบุคคลโดยเน้นความสำคัญในด้านจิตวิทยาในการจัดจริยศึกษา
อุปกรณ์การให้ความรู้ทางคุณธรรมมีความรู้สึกรับผิดชอบเป็นส่วนช่วยได้มาก ผลงานของโรงเรียนตัดสินได้จากความสำเร็จในการพัฒนาความสามารถในการตัดสินคุณธรรมของแต่ละบุคคลได้ นักการศึกษาจะต้องจัดกิจกรรมนักเรียนโดยการเสริมสร้างพลังในการดำเนินกิจกรรมด้วยตัวนักเรียนเอง ใช้สติปัญญาโดยไม่ละทิ้งหลักคุณธรรมที่นำมาประยุกต์ใช้ด้วยตนเองอย่างมีประสิทธิภาพ
จอห์น วิลสัน (John Wilson)
วิลสัน (Wilson. 1985 อ้างอิงใน ประภาศรี สีหอำไพ. 2543 : 37) ได้เสนอหลักการใช้เหตุผลอย่างมีระบบว่า คุณธรรม คือ ระดับในการกำหนดคุณสมบัติของคนในสังคมตามความรู้สึก ความสนใจที่วัดได้จากคนอื่น ดังนั้นการจัดการศึกษาจึงเกี่ยวข้องกับเรื่องของศาสนาและอารมณ์ของมนุษย์ได้แก่ เจตคติ ความเชื่อถือ และความคิดทางคุณธรรม ซึ่งตรงกับความสนใจของผู้อื่น
หลักคุณธรรมสามารถจำกัดความเหมือนคำว่า คำนิยม (Values) เข็มทิศที่เป็นตัวชี้บอกคุณค่า คือ ความเชื่อ ความเห็น เจตคติ ความสนใจ หรือการปฏิบัติที่บุคคลทำอย่างแยกตัวเป็นอิสระออกมาให้ผู้อื่นได้รู้ว่ากำลังดำเนินการวางรูปแบบของค่านิยมขึ้นมา ค่านิยมเป็นผลผลิตของประสบการณ์ส่วนตัวด้วยอย่างหนึ่ง
จากทฤษฎีและแนวคิดต่างๆ ที่เกี่ยวกับพัฒนาการทางคุณธรรม สรุปได้ว่าพัฒนาการทางคุณธรรมของบุคคลได้รับอิทธิพลมาจากสังคมเป็นส่วนใหญ่ บุคคลที่เกิดมาในแต่ละสังคมจะต้องเรียนรู้และยอมรับกฎเกณฑ์ จารีตประเพณีในสังคมของตน จะก่อให้เกิดความสุข และเป็นที่ยอมรับของสังคม

แนวทางการจัดกิจกรรมส่งเสริมคุณธรรมสำหรับครู

เมื่อสังคมคาดหวังให้ครูเป็นผู้ประพฤติดี  ประพฤติชอบ  มีสติสัมปชัญญะ  มีคุณธรรม  ดังนั้นจึงจำเป็นที่ครูจะต้องหาวิธีส่งเสริมคุณธรรมให้กับตนเอง  เพื่อเป็นแนวทางในการพัฒนาคุณธรรมของตนให้ได้เหมาะสมกับที่ได้ชื่อว่าเป็นครู  ดังนี้
กิจกรรมที่  1  การเลียนแบบจากตัวแบบที่ดี  เพื่อโน้มน้าวให้ครูมีความกระตือรือร้นที่จะปฏิบัติงาน
กิจกรรมที่  2  การรวมพลังกลุ่ม  กลุ่มครูที่มีแนวคิดและวางแผนปฏิบัติให้เกิดผลสัมฤทธิ์ด้วยดี  จะมีอิทธิพลต่อครูคนอื่น  สามารถนำกลุ่มชักนำให้ครูอื่นๆ  ประพฤติตาม  เช่น  ครูกลุ่มหนึ่งวางแผนกันประหยัดเพื่อเก็บเงินสำหรับอนาคตและเพื่อพัฒนาตนเองหรือลดความฟุ่มเฟือยต่างๆ  เพื่อประหยัดทรัพย์สินส่วนตัว  ทรัพย์สินของทางราชการ และสาธารณสมบัติ  อาทิ  ตั้งโครงการประหยัดน้ำ  ประหยัดไฟ  โครงการซ่อมบำรุงเครื่องมือเครื่องใช้ภายในหน่วยงานด้วยตนเอง  เป็นต้น
กิจกรรมที่  3  การเพิ่มสมรรถภาพทางจิต  ด้วยวิธี
1.1     ฝึกการควบคุมอารมณ์ของตนเอง  ให้มีความยับยั้งชั่งใจที่จะไม่แสดงปฏิกิริยาตอบสนองในทางลบ  แต่ให้ใช้วิธีไตร่ตรอง  ศึกษาสาเหตุที่แท้จริงของพฤติกรรมนั้น
เสียก่อน
1.2  พยายามเอาชนะอุปสรรคด้วยการสร้างคำมั่นสัญญา และบันทึกผลการปฏิบัติของตนเองไว้  วิธีนี้อาจให้เพื่อนครูหรือผู้ใกล้ชิดเป็นผู้ประเมินความก้าวหน้าให้
1.3  การฝึกสมาธิ  เพื่อให้มีจิตใจที่สงบไม่ฟุ้งซ่าน  ด้วยวิธีนี้จะช่วยให้ครูมีความแจ่มใสในอารมณ์  สามารถที่จะเพิ่มสมรรถภาพทางจิตให้กับตนเองได้เป็นอย่างดี  ในเวลาเดียวกันจะช่วยให้ครูตระหนักและมองเห็นคุณค่าของสมาธิ  มีเหตุผลที่จะประพฤติปฏิบัติสมาธิอย่างต่อเนื่องตลอดไปจนกลายเป็นกิจนิสัยที่ดี

เพลง แม่พิมพ์ของชาติ



"น้อมจิตวันทา บูชาคุณครู กตัญญูกตเวที"
เพลง : แม่พิมพ์ของชาติศิลปิน : วงจันทร์ ไพโรจน์

เนื้อเพลง :  

แสงเรือง ๆ ที่ส่องประเทืองอยู่ทั่วเมืองไทย
คือแม่พิมพ์อันน้อยใหญ่ โอ้ครูไทยในแดนแหลมทอง
เหนื่อยยากอย่างไร ไม่เคยบ่นไปให้ใครเขามอง
ครูนั้นยังลำพอง ในเกียรติของตนเสมอมา

ที่ทำงานช่างสุดกันดารในป่าดงไพร
ถึงจะไกลก็เหมือนใกล้ เร่งรุดไปให้ทันเวลา
กลับบ้านไม่ทันบางวันต้องไปอาศัยหลวงตา
ครอบครัวคอยท่า ไม่รู้ว่าไปอยู่ไหน

ถึงโรงเรียนก็เจียนจะสายจวนได้เวลา
เห็นศิษย์รออยู่พร้อมหน้า ต้องรีบมาทำการสอน
ไม่มีเวลาที่จะได้มาหยุดพอพักผ่อน
โรงเรียนในดงป่าดอน ให้โหยอ่อนสะท้อนอุรา

ชื่อของครูฟังดูก็รู้ชวนชื่นใจ งานที่ทำก็ยิ่งใหญ่
สร้างชาติไทยให้วัฒนา
ฐานะของครูใคร ๆ ก็รู้ว่าด้อยหนักหนา
ยังสู้ทนอุตส่าห์สั่งสอนศิษย์มาเป็นหลายปี

นี่แหละครูที่ให้ความรู้อยู่รอบเมืองไทย
หวังสิ่งเดียวคือขอให้เด็กของไทยในผืนธานี
ได้มีความรู้เพื่อช่วยเชิดชูไทยให้ผ่องศรี
ครูก็ภูมิใจที่สมความเหนื่อยยากตรากตรำมา...




เพลงพระคุณที่สาม

เพลงพระคุณที่สาม





เพลงพระคุณที่สาม
ประพันธ์เนื้อร้องและทำนองโดย : สุเทพ โชคตระกู


ครูบาอาจารย์ที่ท่านประทานความรู้มาให้
อบรมจิตใจให้รู้ผิดชอบชั่วดี
ก่อนจะนอนสวดมนต์อ้อนวอนทุกที
ขอกุศลบุญบารมีส่งเสริมครูนี้ให้ร่มเย็น
ครูมีบุญคุณจึงขอเทิดทูนเอาไว้เหนือเกล้า
ท่านสั่งสอนเราอบรมให้เราไม่เว้น
ท่านอุทิศไม่คิดถึงความยากเย็น
สอนจนรู้จัดเจนเฝ้าเน้นเฝ้าแนะมิได้อำพราง
พระคุณที่สามงดงามแจ่มใส
แต่ว่าใครหนอใครเปรียบเปรยครูไว้ว่าเป็นเรือจ้าง
พลาดจากความจริงยิ่งคิดยิ่งเห็นว่าผิดทาง
มีใครไหนบ้างแนะนำแนวทางอย่างครู
บุญเคยทำมาแต่ปางใดๆเรายกให้ท่าน
ตั้งใจกราบกรานระลึกคุณท่านกตัญญู
โรคและภัยอย่าได้แผ้วพานคุณครู
ขอกุศลผลบุญค้ำชูให้ครูเป็นสุขชั่วนิรันดร
(ให้ครูเป็นสุขชั่วนิรันดร)

ครูอาชีพ และ อาชีพครู

ครูอาชีพ และ อาชีพครู

“ครู” มืออาชีพ…อาชีพ “ครู” คนละเรื่องเดียวกัน

“ครู” ถือเป็นอาชีพที่มีความสำคัญต่อคุณภาพของทรัพยากรมนุษย์ ระบบการศึกษา ตลอดจนการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าต่อไปในอนาคต หากประเทศใดที่มี “ครู” ที่มีคุณภาพ ย่อมเป็นเครื่องการันตีได้ถึงแนวโน้มในการมีทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ…
ประเทศ ไทยเป็นหนึ่งในหลายประเทศที่ให้ความสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของครูให้มี สมรรถนะและมีความสามารถที่เพียงพอต่อการเป็นหนึ่งใน “เสาหลัก” แห่งการพัฒนาประเทศ ดังจะเห็นได้จากตั้งแต่ในปี 2542 ที่ผ่านมา ได้มีการปฏิรูประบบการศึกษาไทย ไม่ว่าจะครู คณาจารย์ และบุคลากรการศึกษา รวมอยู่ด้วย โดยเป็นการปฏิรูปครูทั้งระบบ ตั้งแต่ระบบการผลิตครู การพัฒนาครู การควบครูวิชาชีพ และการบริหารงานบุคคล
ส่วนของระบบการ ผลิตครูนั้น ได้มีการปรับหลักสูตรที่ใช้ในการผลิตครูที่เป็นผู้สอนในระดับการศึกษาขั้น พื้นฐาน ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 6 โดยเริ่มใช้หลักสูตร 5 ปี ครั้งแรก ตั้งแต่ปีการศึกษา 2547
และ ณ วันนี้ จากการสิ้นสุดการอบรมด้วยหลักสูตรดังกล่าวนอกจากจะทำให้ได้ “ครูรุ่นใหม่” จำนวนถึง 2,041 คนแล้ว การอบรมที่เข้มงวดตลอดระยะเวลา 5 ปี ยังทำให้ระบบการศึกษาไทยได้บุคคลที่ประกอบ “อาชีพครู” ที่เป็น “ครูอาชีพ” อีกด้วย
ความแตกต่างที่ชัดเจนที่สุดระหว่าง “อาชีพครู” กับ “ครูอาชีพ” คงหนีไม่พ้น “ครูอาชีพ” คือ ครูที่มีความรู้ ความสามารถ ความเมตตากรุณา จิตวิญญาณของความเป็นครูในการอบรมสั่งสอนนักเรียนอย่างสุดความสามารถ โดยไม่รู้จักเหน็ดจักเหนื่อย แม้ว่าปัจจุบันจะมีบุคคลที่ได้ชื่อเป็นเพียงผู้ประกอบ “อาชีพครู” แอบแฝงในแวดวงครูอยู่บ้าง แต่ก็เชื่อว่าครูรุ่นเก่า
หรือแม้แต่ครูรุ่นใหม่ที่กำลังจะสำเร็จการศึกษาจากหลักสูตร 5 ปีนั้น ส่วนใหญ่ต่างมีความเป็น “ครูอาชีพ” อย่างเต็มเปี่ยมแน่นอน…
อย่าง ไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยในยุคที่เต็มไปด้วยความวุ่นวายนั้น ย่อมส่งผลให้ “ครู” ถูกคาดหวังจากสังคมในการทำหน้าที่เป็น “เบ้าหลอม” แห่งการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่เป็นทั้งคนดี คนเก่ง และใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขในสังคม
จากความคาดหวังที่สังคมมีต่อ “ครู” ในขณะนี้ ส่งผลให้ “ครูมืออาชีพ” จำเป็นต้องมีการจัดการเรียนการสอน และพัฒนาตัวเองในด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาความสามารถด้านการสอน โดยการจัดการองค์ความรู้ที่จะสอนอย่างมีคุณภาพ ทั้งในแง่การพัฒนาความรอบรู้ ในเนื้อหาสาระของวิชาที่จะสอนอย่างลึกซึ้ง การจัดการเรียนการสอนที่เน้นนักเรียนเป็นสำคัญ โดยเน้นการอบรมสั่งสอนที่พัฒนาทักษะชีวิต สุขภาพกาย สุขภาพจิต เพื่อให้อยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมได้อย่างมีความสุข การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้อย่างมีระบบ การจัดกิจกรรมเพื่อให้ผูเรียนคิดเป็น ทำเป็น และแก้ปัญหาได้ มีการใช้นวัตกรรม เทคโนโลยี สารสนเทศ เพื่อการจัดการความรู้ และมีการวัดและประเมินคุณภาพผู้เรียนจากผลการเรียนรู้ตามสภาพจริง
การ ดำรงชีวิตอย่างมีวินัย มีคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ โดยการเป็นผู้ที่มีวินัย ตรงต่อเวลา ปฏิบัติตามกฎระเบียบ ข้อบังคับ กติกาของสังคม มีความประพฤติที่เป็นเบบอย่างที่ดีทั้งทางกาย แต่งกายเหมาะสมกับกาลเทศะ มีมารยาท และเป็นมิตรกับลูกศิษย์ ตามบทบาทและสถานการณ์ ทางวาจา สุภาพ จริงใจและสร้างสรรค์ ที่ก่อให้เกิดกำลังใจ และเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น และทางใจ มีความเมตตา กรุณา กตัญญูกตเวที ซื่อสัตย์สุจริต มีความเป็นกัลยาณมิตร อดทน มีอุดมการณ์เพื่อส่วนรวม ตลอดจนดำรงชีวิตอย่างเหมาะสมกับฐานะ และมีความรักศรัทธา และยึดมั่นในอุดมการณ์แห่งวิชาชีพ
หรือแม้แต่การ ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น เพื่อการพัฒนาตนเอง โดยบทบาทหน้าที่ที่ได้รับจากสังคมนั้น นอกจากจะทำให้ “ครู” จำเป็นต้องรู้จักเปิดใจ เปิดสมอง ในการยอมรับความคิดเห็น หรือความรู้ใหม่แล้ว การรู้จักพัฒนาตนเอง ใฝ่รู้ ศึกษาหาความรู้ใหม่ตลอดเวลา นำความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีใหม่ๆ มาพัฒนาการเรียนการสอนให้มีคุณภาพมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
หากพิจารณาจาก แนวทางในการปฏิบัติตน ทำให้พบว่า “ครูมืออาชีพ” ต้องเป็นครูที่มีความรอบรู้วิชาการที่ตนเองได้ศึกษามา และต้องสามารถถ่ายทอดสิ่งที่ตนเองมีความรอบรู้ให้กับนักเรียนด้วยวิธีการที่ หลากหลาย และสามารถทำให้นักเรียนมีการเรียนรู้ได้อย่างเต็มศักยภาพ สามารถทำงานร่วมกับครู ชุมชนและสังคมได้เป้นอย่างดี
ซึ่งหาก “ครูมืออาชีพรุ่นเก่าลายคราม…เก่า หรือใหม่แกะกล่อง” สามารถปฏิบัติตนได้อย่างที่กล่าวในข้างต้น เชื่อว่าระบบการศึกษาของประเทศไทยจะมีคุณภาพมากกว่าที่ปรากฏเฉกเช่นในขณะนี้ อย่างแน่นอน…
เมื่อ “ครู” มีความเป็น “มืออาชีพ” อย่างเต็มเปี่ยม สังคมก็คงจะสัมผัสได้ว่า เหตุใด “ครูอาชีพ” กับ “อาชีพครู” ถึงเป็นคนละเรื่องเดียวกัน…
คงไม่ต้องอธิบายให้ยืดยาว แค่พิจารณาการทำงานก็น่าจะเห็นชัดเจน…!!